ทำไมถึงชื่อถ้ำละว้า
ทางการได้ทำการสำรวจและพบโครงกระดูกสัตว์ รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์อายุกว่า 3,000 ปี และพบร่องรอยการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อของชนเผ่าละว้า เป็นที่มาของชื่อถ้ำละว้านั่นเอง
ใครพบถ้ำนี้เป็นคนแรก
ผู้ค้นพบคือ คุณลุงผิน ดอกเข็ม เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2493 ซึ่งคุณลุงผินได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมแม่น้ำแควน้อยอยู่ห่างจากภูเขาอันเป็นที่ตั้งของถ้ำละว้าประมาณ 150 เมตร ลุงผินมีอาชีพทำไร่ ตัดไม้รวก ไม้ไผ่ และล่าสัตว์ซึ่งบริเวณพื้นที่โดยรอบเป็นป่าเบญจพรรณ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาวันหนึ่งลุงผินได้เข้าไปล่าสัตว์ตามปกติและได้ยิงเม่นตัวหนึ่ง แต่เม่นตัวนั้นกลับไม่ตายและวิ่งหนีไป ลุงผินจึงตามรอยเลือดของเม่นไป จนพบว่าเม่นได้วิ่งหนี หลบเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งจึงตามเข้าไปแล้วพบว่า ภายในถ้ำนั้นใหญ่โตกว้างขวาง และสวยงามมากซึ่งคือถ้ำละว้านั่นเอง ซึ่งหลังจากที่ทางการสำรวจถ้ำแล้วก็มอบหมายให้ลุงผินและลุงกู้ ผู้เป็นลูกชายดูแลถ้ำต่อเป็นเวลากว่า 40 ปี เนื่องจากเป็นผู้พบถ้ำนี้เป็นคนแรก และมีบ้านเรือนอยู่ในละแวกเดียวกับถ้ำนี้ด้วย
ตำนานถ้ำละว้า
มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่าหลังจากวันที่ลุงผินได้พบถ้ำนั้นลุงผินได้นอนฝันว่าเจ้าของถ้ำมาบอกว่าห้ามไม่ให้ลุงผินบอกกับใครๆ ว่าได้พบถ้ำนี้ แต่อยู่มาไม่นาน ลุงผินได้บอกกับลูกชายของตัวเองที่มีชื่อว่า กู้ และชาวบ้านคนอื่นๆ หลังจากนั้นไม่นานก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ลุงผินต้องตาบอด
ความเก่าแก่กว่า 3,000 ปี
ส่วนทางด้านของลุงกู้ซึ่งเป็นลูกชายของลุงผินได้เข้าไปชมถ้ำแล้วเห็นว่าสวยงามมากจึงได้แจ้งไปยังทางอำเภอและจังหวัดทราบ ทางส่วนราชการจึงได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาสำรวจ และพบว่าถ้ำมีความสวยงามมาก ทั้งยังพบร่องรอยการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อของชนเผ่าละว้าในถ้ำนี้ ทั้งยังพบโครงกระดูกของสัตว์ต่างๆ ซึ่งบางชิ้นเป็นฟอสซิลของสัตว์บางชนิด และยังพบโครงกระดูกมนุษย์ถ้ำ ซึ่งคณะสำรวจได้เก็บรวบรวมและส่งไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์
จากการตรวจพิสูจน์โครงกระดูกของมนุษย์ถ้ำ พบว่ามีอายุมากกว่า 3,000 ปี ซึ่งเชื่อกันว่ามนุษย์ถ้ำต้องมีสายตาที่สามารถมองเห็นในที่มืดได้ดี เพราะภายในถ้ำมืดมาก เนื่องจากถ้ำละว้าแห่งนี้มีความยาวจากปากถ้ำจนไปถึงห้องสุดท้ายประมาณ 400 เมตร และภายในถ้ำแห่งนี้ไม่มีปล่องหรือช่องที่พอจะทะลุให้อากาศผ่านเข้าไปได้ ฉะนั้นอากาศจึงเข้าไปภายในถ้ำได้ทางเดียวคือจากปากถ้ำเท่านั้น อากาศภายในถ้ำจึงค่อนข้างอบอ้าว โดยเฉพาะห้องสุดท้าย
จากถ้ำเก่าแก่สู่สถานที่ท่องเที่ยว
หลังจากให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลถ้ำอยู่ประมาณ 40 ปี ต่อมาไม่นานกรมป่าไม้จึงได้เข้ามากำหนดพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติและดูแลถ้ำละว้าแห่งนี้โดยเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯตลอดมา จวบจนปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 20 ปีแล้ว
เมื่อถ้ำแห่งนี้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของอุทยานแล้ว ทางอุทยานได้มีการปรับปรุงและบูรณะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ทำบันไดซีเมนต์ทางขึ้นถ้ำจำนวน 114 ขั้น ได้มีการเดินกระแสไฟฟ้าเข้าไปภายในถ้ำตลอดแนว และมีการแบ่งถ้ำเป็นห้องต่างๆ ทั้งหมด 5 ห้อง พร้อมทั้งกำหนดเส้นทางเดินเท้า และปิดกั้นในบางจุด ห้ามปีนป่ายเข้าไปเหยียบย่ำ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
ห้องหนุมาน
ห้องหนุมาน ภายในถ้ำแห่งนี้มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก สาเหตุที่ได้ชื่อนี้ เนื่องจากในห้องนี้ได้มีหินงอกขึ้นมาลักษณะคล้ายลิงนั่งชูมือขวาอยู่ (ตามจินตนาการของหลายๆ ท่านที่พบเห็น) จึงเป็นที่มาของชื่อ ห้องหนุมาน
ห้องจระเข้
ห้องจระเข้ เป็นห้องโถงที่ใหญ่พอสมควรและมีห้องเล็กๆ แยกออกไปอีกหลายห้อง ภายในมีความสวยงามของหินงอกหินย้อย นอกจากนี้ยังมีทำนบหินปูนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยปกติในฤดูฝนจะมีน้ำขังอยู่เต็ม และในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมจะมีน้ำล้นจากทำนบหินปูนเป็นเหมือนน้ำตกไหลลงไปสู่ที่ลาดต่ำของพื้นถ้ำ มีความสวยงามมาก สาเหตุที่เรียกห้องนี้ว่า ห้องจระเข้ เพราะว่าภายในห้องนี้มีหินย้อยรูปทรงคล้ายจระเข้ และมีขนาดใหญ่ชัดเจน
ห้องดนตรี
ห้องดนตรี ภายในห้องนี้จะมีหินย้อยจากเพดานถ้ำลงมาเป็นแผ่นบางๆ จำนวนมากและหินย้อยแต่ละแผ่นนั้นมีคุณสมบัติพิเศษ คือเวลาใช้ปลายนิ้วเคาะเบาๆ จะมีเสียงเหมือนเสียงกลอง ซึ่งแต่ละเสียงจะแตกต่างกันไปตามลักษณะความหนาบางของแผ่นหินย้อยนั้นๆ แต่เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทดลองเคาะฟังเสียงแผ่นหินกัน และบางคนก็เคาะแรงทำให้แผ่นหินย้อยเกิดความเสียหาย ณ ปัจจุบันนี้ทางอุทยานฯ จึงห้ามนักท่องเที่ยวเคาะแผ่นหินเอง โดยไม่มีมีเจ้าหน้าที่นำชม และเคาะให้ชมเป็นตัวอย่าง
ห้องค้างคาว
ห้องค้างคาว ห้องนี้เป็นห้องที่ต่อจากห้องดนตรีซึ่งจะต้องลอดช่องเล็กๆ จากห้องดนตรีเข้าไป ภายในเป็นห้องโถงที่มีขนาดใหญ่และกว้างขวางมาก นอกจากนี้เมื่อเข้าไปแล้วจะพบกับโครงถ้ำดั้งเดิมที่เป็นหินแกรนิต และในห้องนี้ได้มีหินงอกหินย้อยมาบรรจบกันจนมองคล้ายเสาหินค้ำยันเพดานถ้ำเอาไว้ บริเวณพื้นถ้ำบางจุดเป็นหลุม บางจุดเป็นพื้นราบเรียบ บนพื้นเพดานถ้ำจะมีค้างคาวอาศัยอยู่มากพอสมควร
ห้องม่านบรรทม
ห้องม่านบรรทม เป็นห้องสุดท้ายของถ้ำละว้าแห่งนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นห้องที่มีความสวยงามวิจิตรที่สุด เพราะเป็นห้องที่มีความใหญ่โต และกว้างขวางมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีหินงอกหินย้อยที่มีลักษณะต่างๆ และมีสีสันสวยงามมาก ถึงแม้ว่าสภาพของอากาศภายในห้องนี้ค่อนข้างร้อนและอบอ้าว แต่กว้างขวางมากจนอากาศหายใจเพียงพอ